“ผิวขาวกระจ่างใส” เป็นผิวในอุดมคติของคนเอเชียโดยเฉพาะคนไทยอย่างฝังลึกจนแก้ไม่หาย และไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีคนยอมเสี่ยงตายทุกวิถีทางเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งผิวที่ขาวอย่างที่ใฝ่ฝัน (อยากจะบอกนะ ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ขาวแล้วจะสวย บางคนขาวแล้วเป็นศพหน้าจืดก็มี) ในช่วงไตรมาสแรกของทุกปีนั้น วงการเครื่องสำอางจะขยันเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Whitening / Brightening รุ่นใหม่ล่าสุดกันอย่างคึกคัก และทุกครั้งที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ก็มักจะมีส่วนผสมใหม่และเทคโนลียีรวมถึงการค้นพบใหม่ ๆ เกี่ยวกับกระบวนการเกิดเม็ดสี จุดด่างดำ ให้เราได้งงกันทุกครั้งว่าเจ้าเอนไซม์และเปปไทด์ชื่อประหลาด ดับกระบวนชื่อฟังยากเหล่านั้นมันคืออะไรกัน? ซึ่งเป็นที่มาของเมก้าโปรเจคช่วงซัมเมอร์ที่ทุกคนกำลังอ่านกันอยู่นี้นี่แหล่ะ

โปรเจคนี้จะแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยในส่วนแรกจะเป็นทฤษฏีและข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต “Melanin” (เม็ดสี) ว่ามีปัจจัยอะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง? สารไวท์เทนนิ่งชนิดต่าง ๆ ที่พบได้บ่อยนั้นทำงานในกลไกใดบ้าง? และปัจจัยอื่นนอกจาก “เมลานิน” ที่ส่งผลต่อความหมองคล้ำและโทนสีผิว ในส่วนที่สองจะเป็นการ Review ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Whitening / Brightening ที่มีขายในประเทศไทย โดยจะเน้นผลิตภัณฑืในหมวด Serum เป็นหลัก ซึ่งจะทยอยอัพเดทไปเรื่อย ๆ ในตลอดช่วงซัมเมอร์นี้

ก่อนที่จะไปถึงเรื่องของผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งและการเข้าใจกลไกในการทำงานของมันได้ เราควรจะทำความเข้าใจกับเรื่องพื้นฐานเสียก่อนว่า สีผิวของคนเรานั้นแตกต่างกันเพราะเหตุใด การผลิตเม็ดสีเมลานินมีกระบวนการอย่างไรบ้าง

ทำไมสีผิวของคนเราถึงต่างกัน?
Melanin นั้นคือเม็ดสีที่อยู่ทั้งในผิวหนัง ดวงตา เส้นผม เมลานินแบ่งออกเป็นสองชนิดได้แก่ Pheomelanins ซึ่งมีสีแดง/เหลือง/ส้ม และ Eumelanin ที่เป็นสีน้ำตาลเข้ม สัดส่วนของเม็ดสีสองชนิดนี้ที่แตกต่างกันเป็นตัวกำหนดสีผิวของคนเราว่าจะเป็นผิวสีเข้มหรือผิวสีอ่อน ผิวสีเข้มคือมีปริมาณ Eumelanin มากกว่า Pheomelanins ส่วนผิวสีอ่อนก็แปลว่ามีปริมาณ Pheomelanins มากกว่า Eumelanin นั่นเอง

มีการแบ่งสีผิวของคนเราเป็น 6 ประเภท ตามแบบ FItzpatrick Scale (ทำโดย Thomas Fitzpatrick ในปี 1975) โดยผิวคนเอเชียอย่างเช่นสาวหมวย หนุ่มตี๋ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น หรือคนไทยที่ผิวค่อนข้างขาวจะจัดเป็นType III (โดนแดดไหม้ง่าย ผิวอาจคล้ำลงได้แต่ก็กลับมาขาวได้เร็ว แต่ที่เป็นปัญหาคือเกิดฝ้า กระ จุดด่างดำจากแสงแดดได้มากกว่า เป็นรอยแดงก็จะหายช้าด้วย) คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ หรือคนไทยมักเป็น Type IV (ผิวสีน้ำผึ้ง ไม่ค่อยมีอาการไหม้เมื่อโดนแดดแต่ผิวคล้ำขึ้นง่าย ผิวสีนี้จะมีโอกาสเกิดจุดด่างดำจากความร้อน การอักเสบ ระคายเคืองได้ง่าย) ส่วน Skin Type อื่น ๆ ถ้าไม่ใช่ฝรั่งจ๋าก็จะเป็นคนแอฟริกันไม่ก็เป็นแขกตะวันออกกลางไปเลย อันนี้ไม่ขอพูดถึงละกันเพราะไกลตัวไปหน่อย…

เม็ดสีเมลานินโดยเฉพาะ Eumelanin ที่มีสีน้ำตาลเข้มนั้นมีประโยชน์ในการปกป้องผิวจากรังสี UV และมีคุณสมบัติในการค้นหาและดูดซับอนุมูลอิสระอีกด้วย (Eumelanin has an ability to both scavenge and quench both oxygen- and carbon-derived free radicals) สีผิวของคนเราที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคในแต่ละทวีปของโลกนั้นเป็นการวิวัฒนาการเพื่อปรับตัวให้สามารถอยู่รอดในพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านั้น ดังนั้นคนไทยที่มีผิวสีน้ำผึ้งนั้นมีประโยชน์ในการทำให้ผิวของเราทนกับแสงแดดแผดเผาในเขตใกล้เส้นศุนย์สูตรได้มากกว่าคนที่มีผิวขาว และคนที่มีผิวขาวจะต้องคอยดูแลผิวที่มากกว่าหากจะใช้ชีวิตอยู่ในแถบนี้ ดังนั้นใครที่อยากจะมีผิวขาวสวยใสแบบง่าย ๆ ไม่ต้องพยายามดูแลอะไรมากแล้วล่ะก็ เลิกฝัน!!! ผิวขาวไม่ใช่จะได้มาง่าย ๆ หรอกนะ!!!

สีผิวของเรานั้นถูกกำหนดมาจากกรรมพันธุ์ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เกิดมาผิวสีน้ำผึ้งหวังจะขาวขึ้นเหมือนพ่อแม่เป็นคนเกาหลีโดยที่ไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายนั้น “ไม่สามารถทำได้” (เป็นการบอกทางอ้อมว่า ไอ้ฉีดกลูต้าไธโอนเพื่อผิวขาวเนี่ย ขาวได้จริงแต่อันตรายกับสุขภาพแน่นอน ถ้าไม่กลัวตาย ตาบอด หรือผลเสียในระยะยาวก็เชิญฉีดตามสบายจ้า) ดังนั้นจงพอใจในสิ่งที่พ่อแม่ให้มา ดูแลผิวให้ดีเพื่อที่ผิวของเราจะได้ไม่มีจุดด่างดำ สีผิวมีความสม่ำเสมอ มีน้ำมีนวล ก็ถือว่าเป็นผิวที่สวยแล้ว

ตัวแปรที่ “กระตุ้น” “การผลิต” และ “การส่ง” เม็ดสีเมลานิน
หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินคำว่า “เอนไซม์ไทโรซิเนส” (Tyrosinase) กันมาบ้าง เอนไซม์ตัวนี้เป็นจุดหลักที่นักวิทยาศาตร์ใช้ในการพัฒนาหาส่วนผสมที่จะมาขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ตัวนี้เพื่อลดการผลิตเม็ดสีเมลานิน แต่ปัจจุบันนี้มีความเข้าใจมากขึ้นว่ายังมีกระบวนการทางไอนไซม์อีกมากมายรวมถึงการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์โดยใช้เปปไทด์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตเม็ดสีเมลานิน และรวมถึงการส่งผ่านเม็ดสีเมลานินที่สมบูรณ์แล้วไปยังเซลล์ผิว เรียกได้ว่า “เอนไซม์ไทโรซิเนส” (Tyrosinase) เป็นแค่จุดเล็ก ๆ ในขั้นตอนอันซับซ้อนทั้งหมดเท่านั้น… ปัจจัยที่กระตุ้นการผลิตเมลานินมาทั้งจากภายนอก (รังสี UV, การระคายเคือง, การอักเสบ) และภายใน (ฮอร์โมน, กรรมพันธุ์ และอื่น ๆ) โดยในระดับของเครื่องสำอางเราจะมาดูที่ปัจจัยภายนอกกันเป็นหลัก

1. ปัจจัยที่กระตุ้นการผลิตเมลานินเริ่มต้นจากด้านนอก ส่วนใหญ่มาจากรังสี UV (UVR) รวมถึงความร้อนที่เข้ามากระทบกับผิว ซึ่งก่อให้เกิดการระคายเคือง การอักเสบ และเมื่อเกิดความเสียหายกับ DNA ของเซลล์ผิว หรือ “เคราติโนไซด์” (Keratinocyte) ก็จะเริ่มกระบวนการปกป้องตัวเองตามธรรมชาติโดยการผลิตและหลั่งเปปไทด์เพื่อส่งสัญญาณไปยังเซลล์ผลิตเม็ดสี หรือ “เมลาโนไซด์” (Melanocyte) ที่มีแขนเขยียดยืดแทรกไปตามช่องวางของเซลล์เหมือนปลาหมึก

ซึ่งหนึ่งในเปปไทด์ที่ค้นพบว่ามีส่วนสำคัญกับการผลิตเมนานินอย่างมากคือ α-MSH (α-Melanocyte Stimulating Hormone) ที่จะเข้าไปจับกับตัวรับสัญญาณ MC1R ( melanocortin receptor 1 ) ที่ด้านนอกของเซลล์ “เมลาโนไซด์” (Melanocyte) ก่อให้เกิดกระบวนการส่งสัญญาณไปยังนิวเคลียสของเซลล์ “เมลาโนไซด์” เพื่อกระตุ้นยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเมลานินอย่างเอนไซม์ Tyrosinase กับ TRP-1 และ TRP-2 และผลิตถุงเม็ดสีหรือ ถุง Melanosome ที่ซึ่งกระบวนการผลิตเม็ดสีที่แท้จริงจะเริ่มขึ้น

2. กระบวนการผลิตเมลานิน (Melanogenesis) เกิดขึ้นภายใน “ถุงเมลาโนโซม” (Melanosome) ที่สร้างขึ้นภายในเซลล์ “เมลาโนไซด์” (Melanocyte) ภายในถุงเมลาโนโซมนี้จะมีกระบวนการทางเอนไซม์เกิดขึ้นมากมายโดยมีสารตั้งต้นคือ L-Tyrosine (ที่เปลี่ยนมาจากกรดอะมิโน L-Phenylalinine อีกที) ซึ่งเอนไซม์ Tyrosinase จะทำการเปลี่ยน L-Tyrosine ให้เป็น L-dihydroxyphenylalanine (L-DOPA) และเปลี่ยนอีกครั้งเป็น L-DOPAquinone (จากรูปภาพจะเห็นได้ง่าย ๆ ว่าเอนไซม์ Tyrosinase เป็นจุดเปลี่ยนแรก ๆ ของกระบวนการ Melanogenesis ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่สารไวท์เทนนิ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ชนิดนี้)

เมื่อถึงขั้นตอนนี้ L-DOPAquinone สามารถเปลี่ยนเป็นเม็ดสีได้สองรูปแบบ คือ Pheomelanins ซึ่งมีสีแดง/เหลือง/ส้ม และ Eumelanin ที่เป็นสีน้ำตาลเข้ม หากไม่มีตัวแปรอื่นมาเกี่ยวข้อง เจ้า L-DOPAquinone จะเปลี่ยนไปเป็น DOPAchrome และจากจุดนี้ก็ยังแตกไปได้อีกสองทางว่าจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยตัวเองตามธรรมชาติหรือผ่านกระบวนการทางเอนไซม์ TRP-2 และ TRP-1 จนเปลี่ยนเป็น 5,6-Dihydroxyindole-2-Carboxylic Acid (DHICA) และแปลงเป็น Eumelanin ตามลำดับ (TRP ย่อมาจาก Tyrosinase-Related Proteins) ซึ่งปัจจุบันนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเจ้า TRP-1 และ TRP-2 นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างไร แต่เห็นว่า Eumelanin ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติกับแปลงเปลี่ยนทางเอนไซม์นั้นจะมีสีและ solubility ที่ต่างกันเล็กน้อย( ซึ่งตรงนี้แหล่ะที่น่าสนใจ เพราะปกติแล้ว Eumelanin จะเป็น insoluble polymer คงต้องรอคำตอบจากการศึกษาในอนาคตต่อไป)

ในกรณีที่มีปัจจัยอื่นอย่าง กรดอะมิโน Cysteine ที่แทรกผ่านเยื่อหุ้มของถุง Melanosome เข้ามา ก็จะเปลี่ยน L-DOPAquinone ไปเป็น Cysteinyl-DOPA และเปลี่ยนไปเป็น Pheomelanins ซึ่งมีสีแดง/เหลือง/ส้ม ต่อไป สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือปริมาณ Reduced Glutathione (GSH) นั้นมีความสัมพันธ์กับสัดส่วนในการผลิต Eumelanin และ Pheomelanins หากมี Reduced Glutathione (GSH) เยอะก็จะมีการผลิต Eumelanin ที่เป็นสีน้ำตาลน้อยลง และผลิต Pheomelanins ที่มีสีเหลือง/แดง มากขึ้น นี่เป็นที่มาว่าทำไม Glutathione จึงทำให้สีผิวขาวขึ้นได้จนเกิดเป็นกระแสมากมาย (แต่อย่างที่บอกไปว่าการฉีดนั้นเป็นอันตรายในระยะยาว และการกิน Glutathione เข้าไปโดยตรงไม่สามารถไปเพิ่ม Glutathione ในระบบร่างกายได้)

3. การส่งผ่านเม็ดสีไปยังเซลล์เคราติโนไซด์ (Melanosome Transfer) หลังจากกระบวนการผลิตเม็ดสีเมลานินเกิดขึ้นภายในถุง Melanosome แล้ว เจ้าถุงที่อุดมไปด้วยเม็ดสีนี้ก็จะเดินทางผ่านแขนของเซลล์ Melanocyte ที่ยืดยาวเป็นปลาหมึกไปยังเซลล์ผิว (Keratinocyte) และแทรกตัวเข้าไปปล่อยเม็ดสีทำให้เซลล์ผิวของเรามีสีคล้ำขึ้น

ทั้งหมดนี้คือกระบวนการผลิตเม็ดสีผิว ซึ่งถ้ามีการกระตุ้นที่มากกว่าปกติก็จะทำให้ผิวของเราเป็นสีคล้ำขึ้น (Tanning) แต่ในกรณีที่ที่เจ้าเซลล์ “เมลาโนไซด์” (Melanocyte) เกิดผีบ้าเข้าสิงจนสั่งให้ผลิตเม็ดสีมากผิดปกติ (Hyperpigmentation) ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าจุดด่างดำ กระ ฝ้า นั่นเอง ซึ่งปัญหาผิวคล้ำขึ้น (Tanning) หรือ จุดด่างดำ กระ ฝ้า (Hyperpigmentation) ต่างก็ใช้สารไวท์เทนนิ่งที่ช่วยลดการผลิตเมลานินเหมือนกันจ้า

ในหัวข้อต่อไปจะพูดถึงสารไวท์เทนนิ่งชนิดต่าง ๆ ที่พบได้บ่อย โดยแบ่งตามกลไกในการทำงานที่แตกต่างกันครับผม

(Source : New Insights Into Pigmentary Pathways and Skin Cancer: The Molecular Basis of Pigmentation and Skin Cancer: From Phenotype to Genotype, Physiopathology of melasma, Milestones in Melanocytes/Melanogenesis, The melanogenesis and mechanisms of skin-lightening agents – existing and new approaches)