พอดีว่าทาง NIVEA  เขาส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ NIVEA : Extra White Firming Treatment Serum SPF50 PA+++ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งและเฟริมมิ่งบำรุงผิวกายพร้อมค่าป้องกัน UV ที่สูงถึง SPF50 PA+++ โดยใช้สารกันแดดที่มีความเสถียรดีและกัน UVA-UVB ได้ มีสารแอนติออกซิแดนท์มาเสริมให้ ซึ่งก็ถือว่าทำออกมาใช้ได้เลยในแง่ของการเป็นผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งที่ผสมสารป้องกันแสงแดด (ดูส่วนผสมจากในรูปเอานะจ๊ะ) มีปริมาณและราคาที่ไม่แพงทำให้เราสามารถใช้เป็นประจำทุกวันได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีอีกเหมือนกัน

แต่ประเด็นที่เราเห็นว่าน่าสนใจและขอยกมาพูดถึงก็คือเขายังส่งมาพร้อมกับใบแทรกที่บอกว่าเนี่ยการทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยที่มี SPF สูงนั้นจำเป็นสำหรับทุกวันแม้พวกหล่อนจะไม่ได้ไปเดินชายหาดอาบน้ำทะเลแต่นั่งจุ้มปุกในออฟฟิตเดินไปจิกส้มตำที่ตลาดหลังบริษัทพวกเธอก็จะเจอปริมาณรังสี UV ที่รุนแรงแผดเผาไม่แพ้กัน พร้อมกับยกเรื่องของ UV Index ที่สังคมไทยพึ่งแตกตื่นแชร์กันเต็มโซเชียลในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างว่านี่เห็นมั้ย  UV ที่กรุงเทพ กับภูเก็ตนี่เท่ากันเลยแนะแก!!!  (เกาะกระแสสุด ๆ)

เราเคยโพสบ่นไปในเฟสไปแล้วเรื่อง UV Index กับความตื่นตูมในโลกโซเชียล และก็เป็นโอกาสดีที่เราขอมาขยายความและเขียนบทความอย่างเป็นทางการในประเด็นเรื่องของ UV Index กับการปกป้องผิวจากรังสี UV ที่เรามองว่าเรื่องการตื่นตูมในไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้นมันก็ดีในแง่ของการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ครีมกันแดด แต่เราควรจะกรีดร้องราวกับว่าโลกจะแตกที่รังสี UV ที่แผดเผาประเทศไทยอยู่ในระดับ ​Extreme หรือโคตรรุนแรงหรือไม่?

คำตอบคือ “ไม่” แต่เพราะอะไรนั้นขอให้อ่านต่อ…

UV Index Scale

UV Index ไม่ใช่สิ่งที่พึ่งมีมาในไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแต่ว่าองค์การอนามัยโลกมีการทำมาตรฐานการตรจวัดระดับความเข้มข้นของรังสี UV ในแต่ละพื้นที่มาตั้งแต่ 1994 แล้ว และในประเทศไทยเองก็มีกรมอุตุนิยมวิทยาที่คอยรายงานระดับของ UV Index ของพื้นที่สำคัญในประเทศไทยมานานนับสิบปีแล้ว แต่มีคนสนใจมั้ย? ไม่มี!!! หน้าตาเวปไซต์ก็ไม่สวยงามดูเหมือนเด็กประถมทำเพจจาก Word 95 ยังไงอย่างงั้น แต่ข้อมูล UV Index แต่ละพื้นที่จะนั้นจำแนกได้ละเอียดกว่าเวปของเมืองนอก ใครอยากเห็นกับตาว่าหน้าตาเป็นอย่างไรเชิญแวะจิ้มไปดูได้ทาง UV Index Thailand

UV Index WHO

สาเหตุหนึ่งที่เราบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องกรีดร้องตื่นตระหนกที่ในปี 2016 นี้ UV Index ของไทยทะลุระดับ Extreme ไปที่ 12 – 14 นั้นก็เพราะว่า จะปีที่แล้ว จะห้าปีที่แล้ว หรือแปดปีที่แล้วที่เราเคยเช็ค UV Index มา ประเทศไทยก็มีค่า UV Index ทะลุระดับ Extreme มาตลอดจ้า ไม่ใช่พึ่งมาทะลุในปีนี้แต่อย่างใด และนั่นเป็นเหตุผลที่เราบอกมาตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมานี้ว่าพวกเธอควรจะทาผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปเป็นประจำทุกวันทั้งใบหน้าและผิวกายเพราะไม่ว่าจะอยู่ในเมือง ทำงานออฟฟิต อยู่ต่างจังหวัด อยู่ชายทะเล มันมีปริมาณ UV Index ที่แทบไม่ได้แตกต่างกัน ชีวิตประจำวันของคนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ต้องเจอรังสี UV หนักหน่วงไม่แพ้กันเมื่อออกมาภายนอกอาคาร

Thai UV Index

 

โดยเฉลี่ยแล้วค่า UV Index ของประเทศไทยจะอยู่ที่ 11 – 12 อยู่แล้ว โดยตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงที่ค่ารังสีจะเข้มข้นมากเป็นพิเศษ และค่าความเข้มข้นของ UV จะมีโอกาสต่ำกว่า 10 ได้มีแค่ในช่วงไม่กี่เดือนเมื่อเราเข้าสู่ฤดูหนาว แต่กระนั้นก็ยังเป็นค่าที่อยู่ในระดับ Very High ซึ่งก็จำเป็นต้องทาผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดเป็นอย่างดีอยู่ดี และค่า SPF ที่แนะนำก็ควรจะเริ่มต้นที่ 30 เป็นต้นไป ถ้าขึ้น 50 ได้ก็จะดี ส่วนถ้าไปอยู่ประเทศอื่นอย่างในยุโรปที่ค่า UV Index จุ๋มจิ๋มที่ 3 บ้าง 6 บ้าง อาจจะปรับค่า SPF เริ่มต้นที่ 15 ได้ แต่จะใช้ 50 ก็ไม่ถือว่าผิดกฏหมายแต่อย่างใด

ต้องบอกว่าในช่วงสองปีมานี้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ มีความตื่นตัวเรื่องการปกป้องผิวจากแสงแดดมากขึ้นและนั่นก็ทำให้เรามีตัวเลือกของผลิตภัณฑ์มากขึ้นเช่นกัน ย้อนกลับไป 8 ปีที่แล้วเราหาไม่ได้หรอกนะ ผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งทาผิวกายที่จะมีค่า SPF สูง มีแต่ผลิตภัณฑ์ที่บอกว่าผสม UV Filter มาจึ๋งนึงซึ่งคำนวนเป็นค่า ​SPF แทบไม่ได้ด้วยซ้ำ ยังไม่นับว่าผลิตภัณฑ์ทาผิวกายที่มี SPF สูงก็มักจะหนึบเหนอะหนะ แต่ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งบำรุงผิวกายที่มี SPF สูง กัน UVA และ UVB ได้ครบนั้นมาในรูปแบบที่บางเบาลง และมีราคาที่เข้าถึงได้ทำให้เราสามารถใช้ได้เป็นประจำทุกวันอย่างสบายใจ แต่ผลิตภัณฑ์ลักษณะที่ให้ใช้เป็นประจำทุกวันนี้มักจะไม่ทนน้ำหรือเหงื่อ (Water-Resistant) ดังนั้นจึงไม่สามารถเอามาใช้ในกรณีที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างเช่นการเล่นกีฬา ดำน้ำ ว่ายน้ำได้ เราต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ติดผิวได้ดีและเป็น Water-Resistant เพื่อให้เหมาะกับกิจกรรมดังกล่าวด้วย และที่ห้ามพลาดคือการทาผลิตภัณฑ์ที่มี SPF ในปริมาณที่มากพออีกด้วย แขนแต่ละข้างใช้ปริมาณ 3 มิลลิลิตร ส่วนขาแต่ละข้างใช้ข้างละ 6 มิลลิลิตร ถ้าอยากให้ได้ค่า SPF  ตามที่ระบุเอาไว้บนฉลากของผลิตภัณฑ์ [แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม Sunscreen 101 : Summer Special – Understanding SPF in Your Sunscreen]

สิ่งสำคัญที่อยากบอกเอาไว้ก็คือว่า ในโลกนี้ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่กัน UV ได้สมบูรณ์แบบ การทาผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการป้องกัความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากรังสี UV เท่านั้น สิ่งที่ควรทำไปควบคู่กันคือการเลี่ยงแดดในช่วง 11 โมง ถึงบ่ายสาม ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเข้มข้นของรังสี UV มากที่สุด กางร่มหรือหลบในร่มเงาเท่าที่ทำได้ และควรสวมแว่นตากันแดด หรือแว่นที่มีการเคลือบสารกรองรังสี UV เพื่อปกป้องดวงตาเป็นประจำด้วยนะจ๊ะ