เมื่อมาถึงจุดนี้ กระผมคาดว่าทุกท่านคงตระหนักดีถึงอันตรายของรังสี UV และความสำคัญของการใช้ Sunscreen (ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด) เป็นประจำทุกวัน แต่ปัญหาก็คือไม่ใช่ Sunscreen ทุกตัวจะมีประสิทธิภาพดีหรือปกป้องผิวได้ครบทั้ง UVA และ UVB

***กระผมขอใช้คำว่า Sunscreen แทนคำว่า ครีมกันแดดหรือผลิตภัรฑ์ป้องกันแสงแดดไปเลยนะขอรับ เพราะ Sunscreen ไม่ได้อยู่ในรูปของครีมอย่างเดียว แต่มีในรูปโลชั่น เจล หรือเป็นน้ำเหลว ๆ ก็มี***

Sunscreen ที่มีขายในท้องตลาดปัจจุบันมีจำนวนมากที่ปกป้องผิวจากรังสีได้ไม่ครบ (แต่บนฉลากโฆษณาหราว่าสามารถปกป้องผิวจากรังสี UVA และ UVB ได้อย่างสมบูรณ์แบบ) บ้างก็มีปัญหาเรื่องความเสถียร (ปัญหาที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้กัน) ซึ่งสามารถพบได้ทั้งใน Sunscreen ราคาถูกไม่กี่ร้อยยันของแพงเหยีบหมื่น ดังนั้นเราจึงไม่ตัดสินประสิทธิภาพของ Sunscreen เพียงเพราะ ราคาและคำโฆษณา แต่ต้องศึกษาส่วนประกอบและทำความเข้าใจความจริงพื้นฐานของ Sunscreen กันเสียก่อน

กระผมจึงคิดกฏ 5 ข้อในการเลือก หรือ “5 ‘S’ For Selecting Sunscreen” ขึ้นเพื่อเป็นหลักในการเลือก Sunscreen ที่ดีซึ่งประกอบไปด้วย

1. Sun Protection (ปกป้องผิวได้ครบทั้ง UVA – UVB)
2. Stable (สารกันแดดที่ใช้ต้องเสถียร)
3. Safe (ปลอดภัย ไม่มีสารที่อาจก่อการระคายเคืองหรือมีผลเสียกับผิว)
4. Suitable (เหมาะสมกับสภาพผิว การใช้งาน และปริมาณรังสีที่ต้องเผชิญ)
5. Save (ราคาย่อมเยา)

S1 : Sun Protection
Photobucket
การจะดูว่าผลิตภัณฑ์ตัวใดสามารถป้องกันรังสี UV ได้ครบทั้ง UVA-I, UVA-II และ UVB หรือไม่นั้นต้องอาศัยการดูฉลากและ Ingredients List ที่ระบุเอาไว้ เพราะกระผมพบเจอบ่อยเลยทีเดียวที่ผลิตภัณฑ์โฆษณาว่าป้องกันผิวได้ครบทั้ง UVA และ UVB แต่จริง ๆ แล้วไม่สามารถปกป้องผิวได้แค่ UVB และ UVA-II แต่ไม่ครอบคลุมถึง UVA-I โดยเริ่มต้นตรวจสอบเป็นลำดับดังนี้

ดูค่า SPF ของผลิตภัณฑ์ ถ้าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นไม่ได้ระบุค่า SPF มาให้ก็อย่าไปคาดหวังประสิทธิภาพในการกันแดด (รายละเอียดเรื่อง SPF มีอธิบายไว้ด้านล่าง)

ดูว่าระบุค่าการป้องกัน UVA อย่าง PA(+) หรือ PPD มาให้รึเปล่า (รายละเอียดเรื่อง PA(+) และ PPD มีอธิบายไว้ด้านล่าง)

ตรวจดูสารกันแดดที่ใช้ใน Ingredients List ว่าใช้สารกันแดดตัวใดบ้าง เพราะ Sunscreen ที่ระบุค่า SPF มาให้ทุกตัวในโลกนี้สามารถปกป้องผิวจากรังสี UVB ได้อยู่แล้ว แต่จะป้องกันจากรังสี UVA-I และ UVA-II ได้ครบรึเปล่านั้นเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราที่ต้องมาคอยเช็คดูว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นผสมสารที่ป้องกันรังสี UVA-I และ UVA-II ได้ครบถ้วนรึเปล่า

Photobucket
จากตารางนี้จะเห็นว่าสารที่ป้องกันผิวจากรังสี UVA ได้ครบทั้ง UVA-I และ UVA-II ก็คือ

– Titanium Dioxide (ไม่ใช่แบบ Micronized / Microfine)
– Zinc Oxide
– Zinc Oxide (Micronized / Microfine)
– Bis-Ethylhexyloxyphenol Methoxyphenyl Triazine (Tinosorb® S)
– Butyl Methoxydibenzoylmethane (Avobenzone)
– Drometrizole TriSiloxane (Mexoryl® XL)
– Terephthalylidene Dicamphor Sulfonic Acid (Mexoryl® SX)
– Methylene Bis-Benzotriazolyl Tetramethylbutylphenol (Tinosorb® M)

สารกรอง UVA เหล่านี้หลายตัวไมได้รับการอนุมัติใน USA แต่ส่วนใหญ่ได้รับการอนุมัติแล้วในยุโรป ออสเตรเลีย รวมถึงเอเชีย ดังนั้น Sunscreen มีผลิตและจำหน่ายใน USA จึงเป็นตัวเลือกที่ไม่ค่อยดีนัก เราจึงควรมองหา Sunscreen จากประเทศแถบยุโรปหรือเอเชียจะดีที่สุด เพราะมีสารกรองรังสี UVA ที่ดีและปลอดภัยหลายตัวให้เลือกใช้

มาตรฐานที่ใช้วัดค่าการป้องกันรังสี UVB
SPF (Sun Protection Factor)

ปัจจุบัน ค่า SPF คือมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้กันในการบอกระดับความสามารถในการป้องกันรังสี UVB (ย้ำว่าแค่รังสี UVB)

ค่า SPF 15 หมายถึงผลิตภัณฑ์ตัวนั้นสามารถป้องกันรังสี UVB ได้มากกว่าปกติ 15 เท่า อธิบายได้โดยสมมุติว่าถ้าเราไปตากแดด 10 นาทีผิวถึงจะเริ่มไหม้แสบแดง ทา Sunscreen ที่มี SPF 15 ก็จะอยู่กลางแดดได้นานขึ้นอีก 15 เท่านั่นก็คือ 150 นาที (15 x 10 = 150) แต่ผิวของเราแต่ละคนไวต่อแสงแดดไม่เท่ากัน ผู้ที่มีผิวคล้ำหรือมีเม็ดสีเมลานินมากจะสามารถทนแดดได้นานกว่าผู้ที่มีผิวขาว สำหรับคนที่มีผิวคล้ำอาจจะตากแดดนาน 30 นาทีถึงจะเริ่มไหม้ Sunscreen ที่มีค่า SPF 15 ก็ช่วยให้ผิวทนกับ UVB ได้นานขึ้นอีก 15 เท่านั่นก็คือ 450 นาทีนั่นเอง (30 x 15 = 450)

การทดสอบเพื่อที่จะระบุค่า SPF บนผลิตภัณฑ์ถูกกำหนดให้ใช้ผลิตภัณฑ์ 2 มิลลิกรัมต่อ 1 ตารางเซนติเมตร นั่นก็คือเราต้องใช้ Sunscreen ในปริมาณ 1/3 – ½ ช้อนชา ทาให้ทั่วใบหน้าและลำคอเพื่อที่จะได้ค่า SPF ตามที่ระบุเอาไว้บนฉลากของผลิตภัณฑ์ (คือถ้าเราซื้อกันแดด SPF 15 มา แต่ใช้ปริมาณเท่าเม็ดถั่วเขียวทาทั่วหน้า ค่า SPF ที่เราได้จริงก็ไม่ถึง 15 อาจจะเหลือไม่ถึง 5 ด้วยซ้ำ)

ค่า SPF มาตรฐานที่แนะนำให้ใช้คือ 15 แต่กับผู้ที่มีผิวค่อนข้างขาวหรืออยู่ในแถบที่มีปริมาณรังสี UV สูง (อย่างประเทศไทย) ค่า SPF 30 ดูจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสม

มาตรฐานที่ใช้วัดค่าการป้องกันรังสี UVA
ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานสากลหนึ่งเดียวในการวัดค่าการป้องกัน UVA ในบางประเทศอย่างญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย จึงได้มีการจัดทำมาตรฐานในการวัดค่าการป้องกัน UVA ขึ้นมาใช้กันเอง โดยที่พบได้บ่อยก็จะมี PPD กับ PA (+)

PPD (Persistant Pigment Darkening)

ค่า PPD นั้นใช้บอกว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นจะช่วยปกป้องผิวจาก UVA ได้มากกว่าปกติกี่เท่า สมมุติว่าค่า PPD 15 ก็เท่ากับผลิตภัณฑ์ตัวนั้นจะช่วยให้เราทนต่อรังสี UVA ได้มากกว่าปกติ 15 เท่า ซึ่งเราจะพบผลิตภัณฑ์ที่ระบุค่า PPD ได้ใน Sunscreen มีผลิตในยุโรปหรือผลิตเพื่อจำหน่ายในยุโรป

ยังไม่มีบทสรุปที่แน่นอนว่าค่า PPD ขั้นต่ำที่แนะนำให้ใช้คือเท่าไหร่ บ้างก็ว่าบอกว่า 10 บ้างก็ว่า 15 บ้างก็บอกว่าต้องมีอย่างน้อย 1 ใน 3 ของค่า SPF (สมมุติว่า SPF 30 ก็ควรมี PPD 10 เป็นอย่างต่ำ)

เท่าที่หาข้อมูลดูนั้น ค่า PPD ดูจะเป็นตัวเลือกที่เกือบสมบูรณ์ที่สุดในการวัดประสิทธิภาพในการปกป้อง UVA ของผลิตภัณฑ์ แต่ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานหนึ่งเดียวก็เพราะวิธีนี้ยังมีข้อกังขาอยู่บ้าง

PA (+)

หลายท่านจะพบเห็นสัญลักษณ์ PA+ / PA++ / PA+++ ได้บ่อยใน Sunscreen ที่ขายในแถบเอเชีย มาตรฐานนี้กำหนดขึ้นโดยประเทศญี่ปุ่นโดยสามารถเทียบกับค่า PPD ได้ดังนี้

PA+ = PPD2 – 4

PA++ = PPD4 – 8

PA+++ = PPD 8+ (มากกว่า 8 ขึ้นไป)

จากการสังเกตพบว่า เราควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุค่า PA+++ จะดีที่สุด เพราะ Sunscreen ที่ระบุค่า PA++ บางตัวสามารถกัน UVA ได้ไม่ครบถึง 400 nm.

สรุปแล้วในตอนนี้เรายังไม่มีวิธีที่เป็นมาตรฐานในการดูประสิทธิภาพของการกัน UVA ใน Sunscreen แต่หลัก ๆ แล้วเราควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีค่า PA+++ หรือ PPD8 ขึ้นไป

S2 : Stable
ถ้าพูดถึงเรื่องความเสถียรของสารกันแดดเราจะมา Focus กันที่สารกันแดดแบบ Chemical กัน (เพราะสารกันแดดแบบ Physical อย่าง Titanium Dioxide และ Zinc Oxide ไม่มีปัญหานี้อยู่แล้ว)

ปกติแล้วสารกันแดดที่เสถียร (Stable) จะสามารถปกป้องผิวจากรังสี UV ได้ยาวนานและมีการ Degrade หรือเสื่อมลงไม่มาก แต่สารกันแดดที่ไม่เสถียร (Unstable) จะ Degrade หรือ Breakdown เสื่อมประสิทธิในการดูดซับรังสีลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเราใช้ Sunscreen ที่ไม่เสถียรแล้วไปตากแดดแรง ๆ ก็เท่ากับว่าเราเอาผิวไปเสี่ยงกับรังสี UV โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เนื่องจากสารกันแดดที่เราทาลงไปจะเสื่อมและมีประสิทธิภาพในการดูดซับรังสีน้อยลงเรื่อย ๆ (ในกรณีที่แย่ที่สุด ประสิทธิภาพในการดูดซับรังสีอาจจะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวหลังจากเผชิญแดดไป 30 นาที)

สารกันแดดที่รู้กันดีว่ามีปัญหาเรื่องความเสถียรก็คือ Avobenzone (Butyl Methoxydibenzoylmethane) กับ Octinoxate (Octyl Methoxycinnamate, Ethylhexyl Methoxycinnamate) ซึ่งจะเริ่ม Degrade ทันทีเมื่อเจอรังสี UV

Problems with Avobenzone
ถ้า Sunscreen ตัวนั้น ๆ มีส่วนผสมของ Avobenzone (Butyl Methoxydibenzoylmethane) ก็จำเป็นต้องมี Stabilizer ที่ช่วยเสริมความเสถียรชะลอการ Degrade ของ Avobenzone ลงได้

รายชื่อของ Stabilizer ที่ควรมองหามีดังนี้

– 4-Methylbenzylidene camphor (Enzacamene)
– Bis-Ethylhexyloxyphenol Methoxyphenyl Triazine (Tinosorb® S, Bemotrizinol)
– Butyloctyl Benzoate
– Butyloctyl Salicylate
– Diethylhexyl 2,6-Naphthalate (DEHN, Corapan® TQ) (DEHN + Oxybenzone = Helioplex®)
– Diethylhexyl Syringylidene Malonate (Oxynex® ST)
– Hexadecyl Benzoate
– Methylene Bis-Benzotriazolyl Tetramethylbutylphenol ( Tinosorb® M, Bisoctrizole)
– Octocrylene***
– Polyester-8 (Polycrylene)
– Polysilicone-15 (Parsol SLX)
– Terephthalylidene Dicamphor Sulfonic Acid (Mexoryl® SX, Ecamsule)

*** เพิ่มเติมเล็กน้อยว่า Octocrylene ต้องมีปริมาณอย่างต่ำครึ่งหนึ่งของ Avobenzone ยกตัวอย่างว่าใส่ Avobenzone มา 4% ก็ต้องมี Octocrylene อย่างต่ำ 2% เพื่อที่จะมีประสิทธิภาพดีที่สุดในการเป็น Stabilizer***

แต่ถึงแม้จะมี Stabilizer มาให้ Avobenzone แล้ว หากในสูตรผสมนั้นมี Octinoxate อยู่ด้วยก็จะไปลดประสิทธิภาพของ Stabilizer ลง และสารกันแดดแบบ Physical อย่าง Titanium Dioxide และ Zinc Oxide แบบที่ไม่ได้เคลือบซิลิโคนเอาไว้ก็จะทำให้ Avobenzone เสื่อมเร็วขึ้นด้วย

ถ้าจะใช้ Sunscreen ที่มีส่วนผสมของ Avobenzone ก็ต้องมองหาตัวที่ไม่มี Octinoxate กับ Titanium Dioxide และ Zinc Oxide รวมอยู่ด้วยจะเป็นดีที่สุด (แน่นอนว่าไม่ควรใช้ร่วมกับ Mineral Makeup หรือ MMU ด้วยอีกเช่นกัน)

ในบางกรณีก็พอจะอนุโลมให้ได้ถ้ามีส่วนผสมของ Zinc Oxide อยู่เกิน 3 % เพราะเราสามารถพึ่งประสิทธิภาพในการสะท้อนรังสี UVA จาก Zinc Oxide ได้ และถ้าไม่ได้เจอแดดจัด ๆ (อย่างใช้อยู่แต่ในบ้านและในสำนักงาน) ถึงจะมี Octinoxate อยู่ก็พอใช้ได้เหมือนกัน

Problem with Octinoxate
ถ้า Sunscreen มีส่วนผสมของ Octinoxate นั่นก็จะเริ่มเป็นปัญหา เพราะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า Octinoxate จะทำให้ Avobenzone เสื่อมลงเร็วกว่าเดิม (เรียกว่าฉุดกันลงเหว) นอกจากนี้ Octinoxate ยังไปทำให้ส่วนผสมของ Stabilizer มีประสิทธิภาพต่ำลงในการชะลอการเสื่อมของ Avobenzone (คือก็ยังชะลอการเสื่อมได้ แต่ไม่ดีเท่าสูตรที่ไม่ผสม Octinoxate)

ส่วนผสมที่ช่วยเป็น Stabilizer ให้กับ Octinoxate ได้ดีที่สุดคือ Methylene Bis-Benzotriazolyl Tetramethylbutylphenol ( Tinosorb® M) นอกจากนี้การรวมตัวกันของ Homosalate และ Oxybenzone ก็ช่วยเสริมความเสถียรของ Octinoxate ได้เป็นอย่างดี

สรุป
ถ้า Sunscreen ที่ดูอยู่นั้นมีส่วนผสมของ Avobenzone กับ Octinoxate ก็ควรระวังเรื่องความเสถียรและตรวจสอบตามที่ได้บอกเอาไว้ข้างบน หากมีส่วนผสมของ Tinosorb® S หรือ Tinosorb® M ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องความเสถียร หากมีส่วนผสมของ Mexoryl® SX ก็ควรเลือกตัวที่ผสม Mexoryl® XL มาด้วย

และหากไม่อยากมานั่งกลุ้มเรื่องความเสถียรของสารกันแดด ก็ต้องมองหา Sunscreen แบบ Physical ล้วน (Titanium Dioxide และ Zinc Oxide) แต่ปัญหาคือสารกันแดดแบบนี้ไม่เหมาะกับคนที่เป็นสิวง่าย บางคนก็ไม่ชอบความขาววอกที่สารกันแดดกลุ่มนี้ก่อขึ้น และสารกันแดดแบบ Physical นั้นให้ค่า SPF ที่ต่ำ ถ้าต้องการได้ค่า SPF สูงจริง ๆ ก็ต้องใช้ในปริมาณที่เยอะมาก ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะอุดตันผิวมากขึ้น (แน่นอนว่าล้างออกยากขึ้นด้วย)

S3 : Safe
Photobucket
Sunscreen ที่ดีนอกจากจะต้องป้องกันรังสี UV ได้ครบและมีความเสถียรแล้วแน่นอนว่าต้อง “ปลอดภัย” ทั้งตัวสารกันแดดเองและส่วนผสมข้างเคียงอื่น ๆ

สารกันแดดที่ควรหลีกเลี่ยงในทุกกรณีก็คือสารกลุ่ม PABA อย่าง Ethylhexyl dimethyl PABA หรือ Padimate O และหากคุณมีผิว Sensitive ขึ้นมาหน่อยก็อาจจะไม่ถูกกับ Octinoxate หรือ Oxybenzone ก็ได้ (รายละเอียดเรื่องสารกันแดดที่มีโอกาสก่อการระคายเคืองได้ให้ย้อนกลับไปอ่านใน Skincare Basic #11-2 : Sunscreen Ingredients – Part1 และ Skincare Basic #11-2 : Sunscreen Ingredients – Part2)

สำหรับผิว Sensitive หรือผิวเด็กนั้น สารกันแดดที่มีประวัติเรื่องความปลอดภัยอย่าง Zinc Oxide และ Titanium Dioxide เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด นอกจากนั้นก็เหมือนกับการเลือก Skincare ตัวอื่น คือปราศจากสารก่อการระคายเคือง น้ำหอม Fragrance Oil (โดยเฉพาะ Citrus Oil อย่างพวกส้ม มะนาว เบอร์กามอต ที่ทำให้เกิด Phototoxic เมื่อโดนแดด)

ส่วนผสม Alcohol นั้นถ้าคุณไม่ได้มีผิว Sensitive หรือระคายเคืองกับส่วนผสมตัวนี้เป็นพิเศษ กระผมจะขออนุโลมให้กับการผสมใน Sunscreen ได้ (แต่เป็นไปได้ก็ไม่ควรใส่มาเป็นอันตับแรก ๆ ถ้าเป็นอันดับที่ 4 ลงไปก็ถือว่าโอเคอยู่) Sunscreen ที่มีส่วนผสมของ Alcohol มักให้ผลทางคอสเมติคที่ดี ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีผิวมันหรือไม่ต้องการ Sunscreen ที่มีเนื้อเหนียวเหนอะหนะ แต่อย่างที่ทุกท่านทราบดีแล้วว่า Alcohol สามารถก่อให้เกิดอนุมูลอิสระได้ จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสารแอนติออกซิแดนท์มาใช้ร่วมด้วยทุกครั้ง

S4 : Suitable
Photobucket
ทุกคนไม่ได้ต้องการ Sunscreen ที่มีค่า SPF 50 พร้อม PPD 28 ทนน้ำระดับ Very Water Resistance เหมือนกันหมด แต่เราต้องเลือกใช้โดยคำนึงถึงสภาพผิว ปริมาณแสงแดดที่เราจะต้องเจอ และกิจกรรมที่เราต้องทำ โดยมีจุดหลัก ๆที่เราต้องคำนึงถึงตรงนี้

– ค่า SPF / PPD ที่เหมาะสมกับสภาพผิว กิจกรรมหรือปริมาณรังสีที่เราต้องเผชิญ

ค่า SPF ที่เหมาะสมสำหรับใช้ประจำวันคือ SPF15 แต่ถ้าเป็นคนที่มีผิวไวต่อแดดมากหน่อยหรือมีผิวขาวมาก ค่า SPF ขั้นต่ำก็คือ SPF30 c]tหากเราต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือมีอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งก็ต้องหาผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF สูงกว่า 30 (อย่าง SPF 50 เป็นต้น) ส่วนค่า PPD พื้นฐานควรจะมากกว่า 8 (อิงตาม PA+++)

– ประสิทธิภาพในการทนน้ำหรือเหงื่อ

หากทำกิจกรรมที่ต้องโดนน้ำหรือเป็นคนมีเหงื่อออกมากก็ต้องหาผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็น Water Resistance / Very Water Resistance (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารกันแดดแบบ Chemical) แต่หากเราไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมที่ต้องโดนน้ำหรือเหงื่อออกมากก็ไม่จำเป็นต้องใช้ Sunscreen แบบ Water Resistance / Very Water Resistance ก็ได้ เพราะ Sunscreen แบบนี้มักจะทำให้หน้าดูเงามันเนื่องจากต้องก่อชั้นฟิลม์ที่สามารถทนน้ำได้ซึ่งคงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานในห้องแอร์หรือในที่ร่มทั้งวัน

– เนื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิว

ผลิตภัณฑ์กันแดดนั้นมีอยู่ใน Base ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Cream, Lotion, Gel หรือบางทีก็เหลวพอที่จะใส่ขวดสเปรย์ได้ ซึ่ง Base เหล่านี้ก็เหมาะกับสภาพผิวที่ต่างกันไปกัน ถ้าเป็นคนผิวมันก็ควรเลือกตัวที่บางเบาหน่อยจะได้ไม่รู้สึกหนักหน้า

กระผมไม่อยากให้เราคาดหวังว่า Sunscreen ที่ใช้จะต้องไม่ทำให้หน้ามันหรือเป็น Matte Finish โดยสิ้นเชิงเพราะมันหายากกกก!!! เลือกตัวที่เราใช้แล้วไม่แพ้ ไม่เกิดสิว ถึงทำให้หน้ามันนิดหน่อยก็ปล่อยไป เพราะการปัดแป้งฝุ่นทับบาง ๆ ก็ช่วยกลบความเงามันเหล่านี้ได้แล้ว

– ผลทางคอสเมติค

การเลือก Sunscreen เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยุ่งยากและไม่สามารถอาศัยแต่การ Ingredients List เพียงอย่างเดียวเพื่อตัดสินว่า Sunscreen จะให้ผลทางคอสเมติคที่เหมาะกับเรารึเปล่า เพราะเราคงไม่ต้องการ Sunscreen ที่สามารถปกป้องผิวเราจากรังสี UV ได้ดีเยี่ยมแต่อาจมีเนื้อเหนียวเหนอะหนะทำให้หน้ามันเยิ้มตลอดวัน หรืออาจลอกเป็นขุยได้ง่ายเมื่อทาแป้งหรือรองพื้นทับลงไป Sunscreen บางตัวนั้นเจือสีเอาไว้ด้วยซึ่งเฉดสีก็อาจจะไม่เหมาะกับสีผิวของทุก ๆ คน ของแบบนี้ต้องอาศัยการทดลองใช้ด้วยตัวเอง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรซื้อขนาดเล็กหรือขอ Sample มาลองใช้ก่อนที่จะซื้อขนาดเต็ม

S5 : Save
Photobucket
เราไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากกับ Sunscreen เนื่องจากราคาไม่ได้เป็นตัววัดประสิทธิภาพของ Sunscreen (ของแพงไม่จำเป็นต้องป้องกันรังสี UV ได้ดีกว่าของราคาถูก)

Sunscreen ที่ดีต้องมีราคาไม่แพง (หรือในอีกนัยหนึ่งคือมีราคาที่คุณไม่รู้สึกว่ามันแพง) เพราะนี่เป็นสิ่งที่เราต้องใช้เป็นประจำทุกวัน และต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมด้วย

การทา Sunscreen ให้ได้ค่า SPF ตามที่ระบุเอาไว้บนฉลาก ต้องใช้ปริมาณเท่าเหรียญ 5 บาท หรือประมาณ 1/3 – ½ ช้อนชา (ขึ้นอยู่กับขนาดของใบหน้า) หากเราซื้อ Sunscreen ที่มีราคาแพงหูดับแล้วต้องมาเจียดใช้ทีละนิดเพราะกลัวเปลืองก็อย่าไปซื้อมาใช้เลยดีกว่าเพราะมีแต่เสียกับเสีย (ผิวก็เสียเพราะทากันแดดไม่มากพอที่จะปกป้องผิวได้ เงินก็เสียเพราะจ่ายเงินไปตั้งแพงแต่ก็ไม่ได้ใช้มันให้เป็นประโยชน์กับผิว)

ส่วนตัวแล้วกระผมคิดว่า Sunscreen ที่จะใช้กับผิวหน้าไม่ควรมีราคาเกิน 400 บาท ต่อ 50 ml. และถ้าจะลงทุนหนัก ๆ ก็ไม่ควรจะเกิน 1,000 บาท ต่อ 50 ml. อยู่ดี แต่หากป้ายราคาแพงโหดจะไม่ทำให้คุณสะดุ้งสะเทือน แบบว่าของแค่นี้มันเศษเงินก็ถอยมาใช้ได้ตามอัธยาศัย (แต่ก็รบกวนเลือกตัวที่ปกป้องผิวจาก UV ได้ครบและเสถียรด้วยนะขอรับ)

สรุป
หลังจากที่ทุกท่านได้อ่านหลักการ 5S แล้ว คงพบว่าการเลือก Sunscreen ที่เหมาะสมกับเรานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนนินทาชาวบ้าน แต่ก็ไม่ได้ยากเกินจะพยายาม กระผมว่าการที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถหา Sunscreen ที่โดนใจได้เพราะยึดติดกับ “อุดมคติ” มากเกินไปหน่อย

ทุกคนต่างก็คาดหวังถึง Sunscreen ในอุดมคติ ที่สามารถกันแดดได้ดี ไม่ทำให้หน้าขาววอก กันน้ำได้ ติดทนนาน ไม่ทำให้แพ้ ไม่ทำให้อุดตัน ทาแล้วหน้าไม่มันเยิ้ม… แต่นั่นก็เป็น “อุดมคติ” ที่ยากจะหาได้ในความเป็นจริง ซึ่งหากเรายังยึดติดกับ “อุดมคติ” เหล่านี้เราก็จะไม่สามารถหา Sunscreen ที่ตรงใจได้ (เหมือนกับหา “คนรัก” ในอุดมคตินั่นแหล่ะ เกิดใหม่อีกสิบชาติยังไม่รู้จะได้เจอรึเปล่าเลย…)

ในโลกนี้ไม่มี Sunscreen ที่สมบูรณ์แบบ เพราะ Sunscreen ที่สามารถกันแดดได้ดีและเสถียรก็อาจมีเนื้อหนักเกินไปหรือทำให้หน้าขาววอกเมื่อใช้ ส่วน Sunscreen ที่ให้ผลทางคอสเมติคยอดเยี่ยมไม่ทำให้หน้าเงามันและดูนวลเนียนก็อาจมีประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากรังสี UV ไม่ดีนักหรือมีสารก่อการระคายเคืองอย่าง Alcohol เยอะหน่อย บางที Sunscreen ที่ดีทั้งเรื่องการกันแดดและผลทางคอสเมติคอาจก่ออาการแพ้ให้คุณก็เป็นได้ (เจอแบบนี้คงเซ็งน่าดู)

จากเหตุผลที่กล่าวมานี้ การเลือก Sunscreen จึงเป็นเรื่องที่เราต้องทดสอบและทดลองด้วยตนเอง เพราะแต่ละคนมีสภาพผิวที่ต่างกัน แพ้หรือระคายเคืองกับสารแต่ละตัวไม่เหมือนกัน มีโอกาสอุดตันมากน้อยไม่เท่ากัน และชอบผลทางคอสเมติคคนละแบบกัน

เลิกถามหา “กันแดดเทพ” กันได้แล้ว!!! เพราะมันไม่อะไรที่ดีเลิศสำหรับทุกคน เราต้องเสาะแสวงหาและทดลองใช้ด้วยตัวเอง โดยอาศัยการอ่าน Ingredients List เพื่อช่วยกรองผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมไม่ดีออกไปเป็นการจำกัดวงผลิตภัณฑ์ให้แคบลงจะได้ไม่ต้องลองแบบหว่านแหให้เปลืองเงินเปลืองมากโดยใช่เหตุ