เชื่อว่าหลาย ๆ คน โดยเฉพาะคนที่สนใจอ่านส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อย่างคนที่อ่านบล็อกของปูเป้ น่าจะคุ้นเคยหรือเคยได้ยินชื่อสารทำความสะอาด/สารลดแรงตึงผิวที่มีชื่อว่า Sodium Lauryl Sulfate หรือมีตัวย่อว่า SLS กันมาบ้าง (หรือบางคนคงรู้จักเป็นอย่างดีเลยล่ะ)

Sodium Lauryl Sulfate เป็นสารทำความสะอาดยอดนิยมของผู้ผลิตมาช้านานด้วยหลายเหตุผล อย่างแรกเลยคือมันทำความสะอาดคราบมันได้ดี อย่างที่สองคือมันก่อฟองได้เยอะมากด้วย และที่สำคัญคือมันมีต้นทุนแสนถูก ทำให้ผลผลิตสุดท้ายออกมาทั้งทำความสะอาดดี มีฟองมาก (อันเป็นสิ่งผู้บริโภคชื่นชอบ) และตุ้นทุนต่ำ (กำไรมากขึ้น)

ประเด็นมีอยู่ว่า ความสามารถในการดึงน้ำมันและสิ่งสกปรกของ Sodium Lauryl Sulfate นั้นดี และอาจจะดีมากไปหน่อยจนดึงน้ำมันทั้งส่วนที่จำเป็นของผิวและเส้นผมออกมาด้วย มีข้อมูลบ่งชี้ว่า Sodium Lauryl Sulfate นั้นจะตกค้างอยู่ตามผิวหนังและรูขุมขนได้ (มันจับกับโปรตีนได้ดี ซึ่งผิวและผมของเราก็เป็นโปรตีนซะส่วนมาก) จึงมีโอกาสทำให้เกิดการระคายเคืองทั้งกับผิวหนัง รูขุมขน รวมถึงเส้นผมด้วย โดยความเข้มข้นที่มากขึ้น และระยะเวลาที่สัมผัสกับ Sodium Lauryl Sulfate ที่เพิ่มขึ้น จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงของ Sodium Lauryl Sulfate นั้นเลวร้ายลงมากเนื่องจากมีกลุ่มหัวอนุรักษ์โจมตีว่าสารตัวนี้ก่อมะเร็งได้ ข้อความนี้แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วผ่านสื่อทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน (ในขณะที่เขียนบทความนี้) ว่า Sodium Lauryl Sulfate หรือ SLS จะก่อมะเร็งได้แน่นอน แต่การกอบกู้ชื่อเสียงของ Sodium Lauryl Sulfate ดูท่าจะเป็นไปได้ยากเสียแล้ว…

ตัวอย่าง Sulfate ที่ใช้กันในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
Sodium Lauryl Sulfate (SLS) ไม่ได้เป็นสารกลุ่ม Sulfate อย่างเดียวในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด แต่มีสารกลุ่ม Sulfate อีกมายมายที่ใช้อยู่ (และโดนหางเลขไปด้วย) ตัวอย่างที่ชัดเจนสุด ๆ (ว่าโดนหางเลขไปเต็ม ๆ ) คือสารทำความสะอาดที่อ่อนโยนกว่า แต่ดั๊นนนน มีชื่อคล้ายกันมากมายอย่าง Soudium Laureth Sulfate หรือมีตัวย่อว่า SLES

Soudium Laureth Sulfate (SLES) นั้นอ่อนโยนกว่า Sodium Lauryl Sulfate (SLS) แต่บางเวปไซท์ หรือบางบทความยังเขียนเลยว่า Soudium Laureth Sulfate คือ SLS หรือเป็นตัวเดียวกับ Sodium Lauryl Sulfate ทั้งที่มันเป็นคนละตัวกัน ทำให้ SLES ก็โดนตราหน้าตามไปด้วย สารทำความสะอาดกลุ่ม Sulfate อื่น ๆ ที่ใช้กันก็อย่างเช่น Ammonium Laureth Sulfate กับ Sodium Myreth Sulfate และ TEA Laureth Sulfate ซึ่งก็มีความอ่อนโยนกว่า Sodium Lauryl Sulfate (SLS) อีกเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้สารทำควาสะอาดกลุ่ม Sulfate ตัวอื่นจะอ่อนโยนกว่า Sodium Lauryl Sulfate (SLS) แต่ก็ยังมีโอกาสระคายเคืองได้ในบางกรณี ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและระยะเวลาที่สัมผัสอีกเหมือนกัน ดังนั้นไม่ว่าจะใช้สารทำความสะอาดกลุ่มไหน ก็ควรจะล้างออกให้หมดจดจะเป็นดีที่สุด

เราจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ Sulfate-Free รึเปล่า?
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ว่าสารกลุ่ม Sulfate ไม่ได้แย่ไปซะทุกตัว ดังนั้นหากคุณใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี Sulfate อยู่แล้วและไม่ได้มีปัญหาอะไรกับมัน ก็สามารถที่จะใช้ต่อไปได้ หรือหากว่าอยากจะลองเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ Sulfate-Free ก็ไม่เสียหายอะไร

คุณน่าจะลองเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Sulfate-Free ก็ต่อเมื่อ ผลิตภัณฑ์ที่เคยใช้นั้นก่อปัญหาให้เกิดการระคายเคืองกับหนังศีรษะ ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน เกิดรังแค ผมร่วง อ่อนแอ เส้นผมแห้ง หรือฉีกขาดง่าย ในกรณีที่คุณมั่นว่าแพ้สารกลุ่ม Sulfate จริง ๆ ก็ควรที่จะเปลี่ยนเช่นกัน

สำหรับผู้ที่ทำสีผมหรือทำเคมี เส้นผมจะอ่อนแอกว่าปกติ การเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความสะอาดที่อ่อนโยนก็จะช่วยรักษาเส้นผมไว้ได้ดีกว่า

ผลิตภัณฑ์ Sulfate-Free มีข้อเสียรึเปล่า?
บอกกันเลยตรง ๆ ว่ามีบ้าง สารทำความสะอาดชนิดอ่อนโยนมาก ๆ หลายตัว ก่อฟองน้อย หรือแม้แต่แทบไม่ก่อฟองเลยในบางครั้ง ดังนั้นวันไหนเราอัดผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมไปเต็มที่ หรืออาบเงื่อตากน้ำกลางแดดร้อนจัดมาทั้งวัน หรือหมักผมเอาไว้ไม่สระมาหลายวัน การใช้แชมพูที่เป็นแบบ Sulfate-Free ส่วนใหญ่จะให้ฟองน้อยมากหรือหาฟองแทบไม่เจอ (ซึ่งทำให้เรายิ่งต้องเพิ่มปริมาณในการใช้แชมพูมากขึ้นไปอีก)

แต่อย่างที่เคยบอกเอาไว้นานแล้ว ว่าการที่ฟองน้อย ไม่ได้หมายความว่ามันจะทำความสะอาดได้ไม่ดี เพราะว่าฟองไม่ใช่ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพในการทำความสะอาด เพียงแต่เราูกปลูกฝังมาว่า อะไรที่ฟองมาก ๆ แปลว่าทำความสะอาดได้ดีเท่านั้นเอง ดังนั้นในจุดนี้จึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ผู้ผลิตจะต้องขบคิดหาวิธีทำให้ผลิตภัณฑ์ Sulfate-Free นั้นยังคงสามารถก่อฟองได้มาก ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้พวกสาร Foam-Booster เข้าไปนั่นเอง

นอกจากปัญหาเรื่องการก่อฟองบ้างแล้วนั้น ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Sulfate-Free มักมีความอ่อนโยนกับผิวและเส้นผมมากกว่า ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับส่วนผสมอื่น ๆ ที่ใส่มาด้วย อย่างน้อยถ้าคุณมีผิวที่ Sensitive มาก ๆ ก็อาจจะต้องเลือกทั้งที่เป็น Sulfate-Free และปราศจากสีหรือน้ำหอมไปด้วยในตัว

อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องราคาที่อาจจะเถิบตัวสูงขึ้นอีกนิดเพราะด้วยต้นทุนของสารทำความสะอาดที่แพงกว่าอีกหน่อยจ้า

(Source : CIR Report on SLS, Profile of irritant patch testing with detergents: sodium lauryl sulfate, sodium laureth sulfate and alkyl polyglucoside., Final report of the amended safety assessment of sodium laureth sulfate and related salts of sulfated ethoxylated alcohols.)