ใครที่ชอบแวะโฉบไปเช็คผลิตภัณฑ์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือ Drugstore Chain ชั้นนำอย่างBoots, Watsons, Tsuruha น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะไม่ชัดเจนนักถ้าไม่สังเกตให้ดี แต่เป็นข่าวดีที่ในที่สุด Bioré ก็เริ่มนำผลิตภัณฑ์กันแดดสูตรใหม่เข้ามาจำหน่ายแล้ว ส่วนสูตรใหม่นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?

 photo BioreUVAquaMousse02.png



จริง ๆ แล้วสรุปเอาสั้น ๆ คือเจ้ากันแดดสูตรใหม่นี้นั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA ที่ดีขึ้นนั่นแหล่ะ แต่ว่าดีขึ้นกว่าสูตรเก่าอย่างไร เพราะอะไร และทำไมต้องป้องกัน UVA ให้ดีขึ้นนั้นจะมาแถลงไขให้ดังต่อไปนี้

Understanding : UV Ray
 photo UVRay.png
รังสี Ultraviolet หรือ UV นั้นจริง ๆ มี 3 ช่วงใหญ่ ๆ คือ A B และ C

UVC มีความยาวคลื่นที่ 100 – 280 นาโนเมตร มีความรุนแรงและเป็นพิษกับสิ่งมีชีวิตมากสุด แต่มีความสามารถในการทะลุทะลวงต่ำสุด จึงถูกกรองจากชั้นบรรยากาศไปหมดแล้ว (แต่ถ้าโอโซนโหว่มากขึ้น ก็อาจจะหลุดเข้ามาได้ ดังนั้นเรามารักษ์โลกกันให้มาขึ้นนะจ๊ะ) การฆ่าเชื้อด้วย UV ก็ใช้ UVC นี่แหล่ะจ้า

UVB มีความยาวคลื่น 280 – 320 นาโนเมตร จำง่าย ๆ ว่า B คือ Burn เพราะว่านี่เป็นรังสีหลักที่ก่อให้เกิดการไหม้ แดง อักเสบ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้จะไปกระตุ้นการผลิตเม็ดสีเมลานินอย่างช้า ๆ ซึ่งค่า SPF ในผลิตภัณฑ์จะบ่งบอกถึงคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UVB แต่เพียงอย่างเดียว

UVA มีความยาวคลื่น 320 – 400 นาโนเมตร จำง่าย ๆ ว่า A คือ Aging เพราะรังสี UVA แม้จะมีความรุนแรงต่ำ แต่ทะลุทะลวงได้สูง จึงทะลวงผ่านทั้งชั้นบรรยากาศ กระจก ผ้าม่าน ทะลุยาวเข้าไปได้ลึกถึงผิวชั้นใน ไปสะสมและทำลายโครงสร้างให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย กระตุ้นการผลิตเม็ดสีผิว นอกจากนี้รังสี UVA ยังไปกระตุ้นสาร Pre-Melanin (DHICA) ที่กระจายอยู่ในเซลล์ผิวอยู่แล้ว ให้เปลี่ยนจากใส ๆ ไปเป็นสีน้ำตาล ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากสัมผัสกับรังสี ทำให้เกิดผลของ Immediate Tan นั่นเอง

UVA ยังอาจแยกย่อยเป็นอีกสองช่วงคือ UVA-II ในช่วงคลื่น 320 – 340 นาโนเมตร และ UVA-I ในช่วงคลื่น 340 – 400 นาโนเมตร โดยสารกันแดดที่กรอง UVA ได้นั้นบางชนิดกรองได้ครบทั้ง UVA-II และ UVA-I (Zinc Oxide, Bis-Ethylhexyloxyphenol Methoxyphenyl Triazine, Methylene Bis-Benzotriazolyl Tetramethylbutylphenol, Butyl Methoxydibenzoylmethane, Terephthalylidene Dicamphor Sulfonic Acid และ Drometrizole TriSiloxane) แต่บางชนิดกรองได้แค่ UVA-II (Oxybenzone) บางชนิดกรองได้ในช่วง UVA-I (Diethylamino Hydroxybenzoyl Hexyl Benzoate)

Understanding : SPF for UVB Protection
ค่าที่ใช้บ่งบอกในการป้องกันรังสี UVB คือ SPF (Sun Protection Factor) ซึ่งทางยุโรปได้กำหนดให้ฉลากไม่สามารถระบุค่า SPF เกิน 50 ได้ หากค่า SPF ที่ทดสอบมาสูงกว่า 50 เช่น SPF 60 SPF100 ก็ให้ใส่ SPF50+ ซึ่งปัจจุบันอเมริกาได้อัพเดทกฏหมายฉลากเครื่องสำอางตามยุโรป และในไทยก็อัพเดทตามและกำลังอยู่ระหว่างการบังคับใช้

 photo chart-1.gif
เหตุผลที่หลายประเทศทั่วโลกกำหนดกฏหมายลักษณะนี้เพราะต้องการควบคุมไม่ให้มีการพยายามสร้างค่านิยมการแข่งขันด้วยค่า SPF ตัวเลขสูง ๆ เพราะค่า SPF ที่มากกว่า 50 เป็นต้นไปนั้นไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันผิวจากรังสี UVB (คือกันได้เพิ่มขึ้นน้อยมากเป็นหลักจุดทศนิยม)

เมื่อค่า SPF ที่มากกว่า 50 ไม่ได้มีผลมากเท่าไหร่นักกในการเพิ่มการป้องกันรังสี UVB แล้วจะมีประโยชน์อย่างอื่นในการที่มีค่า SPF สูงกว่านั้นหรือไม่? บางคนอาจจะเคยได้ยินว่า SPF ยิ่งสูงแปลว่ายิ่งปกป้องได้ยาวนาน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องในทางทฤษฏี แต่ในทางปฏิบัตินั้นผลิตภัณฑ์กันแดดที่เราทาลงไปนั้นจะปกป้องผิวได้ต่อเมื่อมันยังติดอยู่บนผิว ถ้าเราเหงื่อออก หน้ามัน เช็ดเหงื่อ ซับหน้า ก็สามารถทำให้สารกันแดดที่ทาลงไปลอกหลุดออกมาได้ ดังนั้นหากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งก็ต้องทากันแดดซ้ำอยู่ดีทุก ๆ 2 ชั่วโมง (แต่หากใช้ชีวิตในออฟฟิต เจอแดดนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ต้องทาซ้ำก็ได้ ถ้ากันแดดที่ใช้มีความเสถียรดี)

ประโยชน์เดียวของการมีค่า SPF สูงมาก คือการชดเชยเรื่องปริมาณในการใช้ เนื่องจากค่า SPFที่ระบุบนฉลากจะถูกทดสอบด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ที่ปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อ 1 ตารางเซนติเมตร เราต้องทาผลิตภัณฑืกันแดดเป็นปริมาณ 1.5 มิลลิลิตรทั่วไปหน้า จึงจะได้ค่า SPF ตามที่ระบุไว้ ซึ่งจากการวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีใครทาในปริมาณที่มากขนาดนั้น หากเราทากันแดดน้อยกว่าปริมาณที่แนะนำครึ่งหนึ่ง ค่า SPF ที่เราได้ก็จะลดเหลือประมาณครึ่งเดียว ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF สูง ๆ นั้นก็พอจะมีประโยชน์ในแง่ของการให้การปกป้องที่เพียงพอแม้เราจะทาในปริมาณที่ไม่มากเท่าที่เขาแนะนำเอาไว้

ทว่าเนื่องจากการที่กฏหมายกำหนดให้ระบุค่า SPF ไม่เกิน 50 ดังนั้นเราไม่มีทางรู้ได้แน่ชัดเลยว่า ครีมกันแดดที่มีค่า SPF50+ นั้น แท้จริงมีค่า SPF เท่าไหร่กันแน่ อาจจะ 51? 60? 100? 130? ก็ไม่อาจรู้ได้….

Understanding : PA for UVA Protection


ค่าที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการกรองรังสี UVA นั้นแตกต่างกันไปในหลาย ๆ ประเทศ เนื่องจากยังไม่มีกฏที่ถูกตราขึ้นมาใช้เป็นมาตรฐานทั่วโลก แต่ที่ได้รับความนิยมและเห็นกันบ่อย ๆ จะมีระบบ PA (Protection Grade of UVA) ของญี่ปุ่น และ PPD (Persistent Pigment Darkening) ซึ่งทั้งสองค่านั้นมีความเกี่ยวโยงกันซึ่งจะอธิบายเรื่อง PA ต้องอธิบายเรื่อง PPD ก่อน

ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า PPD10 แปลว่าผิวสามารถทนกับรังสี UVA ได้นานกว่าปกติ 10 เท่า ก่อนที่รังสีจะสามารถก่อให้เกิดความเสียหายและกระตุ้นการผลิตเม็ดสีขึ้นมาได้

 photo PA_Old.png
ส่วนค่า PA นั้นเดิมจะมีเพียง 3 ช่วง

PA+ มีค่าเท่ากับ UVAPF/PPD 2 ถึงน้อยกว่า 4
PA++ มีค่าเท่ากับ UVAPF/PPD 4 ถึงน้อยกว่า 8
PA+++ มีค่าเท่ากับ UVAPF/PPD มากกว่า 8 เป็นต้นไป

ซึ่งข้อเสียของระบบเดิมคือค่ากันแดดที่มี UVAPF/PPD 8 และ UVAPF/PPD 16 แม้จะมีประสิทธิภาพในการกรองรังสี UVA ต่างกันกว่าเท่าตัว ก็ยังได้ค่า PA+++ เท่ากัน

 photo PA_New.png
ระบบใหม่ที่ถูกนำมาเริ่มใช้เมื่อ มกราคม 2013 นั้นเพิ่มค่า PA เป็น 4 ช่วง

PA+ มีค่าเท่ากับ UVAPF/PPD 2 ถึงน้อยกว่า 4
PA++ มีค่าเท่ากับ UVAPF/PPD 4 ถึงน้อยกว่า 8
PA+++ มีค่าเท่ากับ UVAPF/PPD 8 ถึงน้อยกว่า 16
PA++++ มีค่าเท่ากับ UVAPF/PPD มากกว่า 16 เป็นต้นไป

 photo BioreUVAquaMousse03.png
ทำให้เราสามารถดูได้ง่ายขึ้นว่ากันแดดตัวใดมีประสิทธิภาพในการกรองรังสี UVA ได้ดีแค่ไหน นอกจากยังสอดคล้องกับหลักของผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่ดีของฝั่ง EU ที่ต้องมีสัดส่วนของ SPF : PPD เท่ากับ 3 : 1 เป็นอย่างน้อยด้วย (SPF 50 ก็ควรมีค่า UVAPF/PPD ประมาณ 16 ซึ่งก็คือ PA++++ นั่นเอง)

(Sources : 日本化粧品工業連合会UVA防止効果測定法基準の改定について
, The European Commission Recommendation on the Efficacy of Sunscreen Products.)

 photo BioreUVAquaMousse01.png
Bioré : UV Aqua Rich Watery Mousse SPF50+ / PA++++ (33g. / 290 THB)

ผลิตภัณฑ์สูตรใหม่นี้มี PA++++ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกรองรังสี UVA มากกว่าสูตร ซึ่งทาง Bioré มีการปรับปรุงสูตรของกันแดดตัวนี้ให้สมบูรณ์กว่าเดิมทีเดียว

สารกรองรังสี UV ตัวใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาคือ Bis-Ethylhexyloxyphenol Methoxyphenyl Triazine หรือ Tinosorb S มีคุณสมบัติในการกรองรังสี UV ได้ครบทั้ง UVA และ UVB พร้อมทั้งยังเสริมความเสถียรให้กับ Ethylhexyl Methoxycinnamate ซึ่งเป็นสารกรองสี UVB ในสูตรอีกด้วย สารกันแดดที่มีอยู่เดิมอย่าง Zinc Oxide เน้นให้การกรองรังสี UVA เป็นหลัก เสริมด้วย Diethylamino Hydroxybenzoyl Hexyl Benzoate ที่กรอง UVA-I ได้ดี และมี Titanium Dioxide ช่วยเพิ่มค่า SPF และเพิ่มความทึบให้กับส่วนผสม

ทำให้โดยภาพรวมแล้ว Bioré : UV Aqua Rich Watery Mousse SPF50+ / PA++++ สูตรใหม่นี้มีประสิทธิภาพในการกรองรังสี UVA ได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก และยังปกป้องรังสี UVB ได้เสถียรกว่าสูตรเดิมอีกด้วย

(Source : Photostabilization of butyl methoxydibenzoylmethane (Avobenzone) and ethylhexyl methoxycinnamate by bis-ethylhexyloxyphenol methoxyphenyl triazine (Tinosorb S), a new UV broadband filter.)

Ingredients : 

Water, Zinc Oxide, Alcohol, Ethylhexyl Methoxycinnamate, Cyclopentasiloxane, C12-15 Alkyl Benzoate, Diethylamino Hydroxybenzoyl Hexyl Benzoate, Titanium Dioxide, Sorbitan Stearate
Sodium Acrylate/Sodium Acryloyldimethyl Taurate Copolymer, Lauryl Methacrylate/Glycol Dimethacrylate Crosspolymer, Polysorbate 60, Stearyl Alcohol, Bis-Ethylhexyloxyphenol Methoxyphenyl Triazine, Polymethylsilsesquioxane, Isohexadecane, Methicone, Lauryl Methacrylate/Sodium Methacrylate Crosspolymer, Dimethicone, PEG-32, Polyglyceryl-3 Polydimethylsiloxyethyl Dimethicone, Polysorbate 80, Xanthan Gum, Agar, Behenyl Alcohol, Microcrystalline Wax, Fragrance (Parfum) , Polyvinyl Alcohol, Disodium EDTA, Ceratonia Siliqua Gum, Sodium Stearoxy PG-Hydroxyethylcellulose Sulfonate, BHT, Maltodextrin, Butylene Glycol, Propylene Glycol, Citrus Grandis (Grapefruit) Fruit Extract, Sodium Hyaluronate, Citrus Aurantium Dulcis (Orange) Fruit Extract, Citrus Medica Limonum (Lemon) Fruit Extract, Phenoxyethanol, Methylparaben, Butylparaben, Ethylparaben, Propylparaben.



 photo BioreUVAquaMousse04.png
ทางด้านเนื้อผลิตภัณฑ์ ตัวเบสมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อยู่เป็นลำดับที่สาม แต่สูตรใหม่นี้ให้สัมผัสโดยรวมที่ไม่แห้งเท่าสูตรก่อน เทคโนโลยีที่ทำให้ผลิตภัณฑ์กันแดดในเครือ Kao น่าประทับใจคือการห่อหุ้มส่วนของสารกันแดดไว้ในแคปซูลขนาดเล็กและแขวนลอยอยู่ใน Aqueous Base ด้านนอก ทำให้ได้สัมผัสของกันแดดที่บางเบาและฉ่ำเมื่อสัมผัส

เมื่อลูบลงไปบนผิว เจ้าแคปซูลของสารกันแดดจะแตกออกกระจายคลุมไปบนผิวและทิ้งเป็นชั้นฟิลม์ของสารกันแดดเอาไว้หลังจากส่วนของ Aqueous Base ได้ระเหยออกไป

 ซึ่งสูตรใหม่ของ Bioré : UV Aqua Rich Watery Mousse SPF50+ / PA++++ มีเนื้อแคปซูลที่ละเอียดและนวลเนียนกว่าเดิมมาก โทนสีจะเหลือบสีเหลืองจาง ๆ เนื่องจากส่วนผสมของสารกันแดด Tinosorb S ที่เพิ่มเข้ามานั้นมีสีเหลืองอ่อน ๆ

 photo BioreUVAquaMousse05.png
จากการทดลองใช้หลังทาสกินแคร์ตามปกติที่มีการให้ความชุ่มชื้นอย่างเต็มที่พบว่ากันแดดตัวนี้ช่วยลดความเงามันได้ในระดับ Soft-Matte และเมื่อทาแล้วสีผิวจะดูผ่องขึ้นเล็กน้อย และดรอปลงจนกลืนกับสีผิวเมื่อเซ็ทตัวไปได้สักระยะหนึ่ง (ทดลองจากสีผิวค่อนข้างขาวของตัวเอง) เมื่อทาแป้งฝุ่นที่ใช้ปกติเห็นได้ว่าผิวไม่มันวาวได้นานกว่าปกติ หลังล้างหน้าแล้วผิวยังรู้สึกปกติ ไม่กร้าน เพราะในส่วนของการลงสกินแคร์ก่อนหน้านั้นมีการให้ความชุ่มชื้นที่เพียงพอ

ปริมาณในการใช้เพื่อให้ได้ค่าป้องกันรังสีตามที่ระบุนั้นคือการใช้กันแดดในปริมาณ 1.5 มิลิลิตรสำหรับทาทั่วใบหน้า (และอีก 1.5 มิลลิลิตรสำหรับลำคอ) กะปริมาณคร่าว ๆ คือราว 2 ข้อนิ้วสำหรับการทาใบหน้า หรือใช้กันแดดหลอดนี้ให้หมดใน 20 วัน นั่นเอง แต่โดยทั่วไปในชีวิตประจำวันแล้วไม่มีใครทาเยอะขนาดนั้นแม้แต่ตัวของปูเป้เองก็ตาม

 (เว้นแต่วันที่ต้องเจอแดดจัด ทำกิจกรรมกลางแจ้ง จะโบกเต็มที่จ้า)

อย่างไรก็ดี วิธีการทากันแดดที่ปูเป้ใช้ในแต่ละวัน คือใช้กันแดดปริมาณ 1 ข้อนิ้วทั่วใบหน้าก่อน 1 รอบ และบีบเพิ่มตามความเหมาะสมเพื่อทาเพิ่มในจุดที่เป็นส่วนสันนูนของใบหน้า หรือไวต่อการเกิดจุดด่างดำ เช่นบริเวณโหนกแก้ม สันจมูก และหน้าผาก เพื่อเพิ่มการปกป้องเป็นพิเศษในบริเวณดังกล่าว

สำหรับการทากันแดดซ้ำในระหว่างวันนั้น หากไม่ได้เหงื่อไหลไคลย้อย ต้องเจอแดดจัดเป็นเวลานานกว่า 45 นาทีเป็นต้นไป จะไม่ทาซ้ำในระหว่างวันก็ได้ อาจจะเติมแค่แป้งที่มีค่า SPF เพื่อที่จะไม่รบกวนการแต่งหน้าที่ทาลงไปก่อนหน้านั้น

 photo BioreUVAquaMousse06.png
โดยสรุปแล้ว Bioré : UV Aqua Rich Watery Mousse SPF50+ / PA++++ ถือเป็นการปรับปรุงสูตรใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม กันแดดได้ดีขึ้นมาก มีความเสถียร และเนื้อสัมผัสก็น่าประทับใจ เป็นตัวเลือกที่ราคาเป็นมิตรกับงบประมาณยามเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ในช่วงนี้ 

Bioré : UV Aqua Rich Watery BB SPF50+ / PA++++ ที่มีสูตรใกล้เคียงกัน เพียงแต่เจือสีเนื้อมาแบบจาง ๆ ซึ่งช่วยให้เนื้อผลิตภัณฑ์ดูกลมกลืนกับสีผิวเดิมได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีผิวค่อนข้างขาว

ส่วนใครที่กังวลเรื่องแอลกอฮอล์จะทำให้ผิวแห้ง ปูเป้บอกได้แค่ว่าถ้าเราดูแลเรื่องความชุ่มชื้นด้วยการลงสกินแคร์ที่เหมาะกับผิวก็จะช่วยป้องกันปัญหาจากแอลกอฮอล์ไปได้เยอะจนไม่ต้องกังวลขนาดนั้น เพราะกันแดดที่ปูเป้ใช้ทุกวันก็มีแอลกอฮอล์ทุกตัวจ้า (แต่ขั้นตอนอื่นของการบำรุงผิวแทบไม่มีแอลกอฮอล์เลย)

สำหรับคำถามว่า “จะแพ้มั้ย” “ใช้แล้วอุดตันรึเปล่า?” เป็นคำตอบที่ปูเป้บอกไม่ได้ครับ อาการแพ้เป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในทุก ๆ คน สำหรับการอุดตันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพผิวและการดูแลผิวโดยรวมของแต่ละคนเอง นอกจากนี้คนเรายังไวต่อการอุดตันของสารแต่ละตัวไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้นก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตาม ควรทดสอบและทดลองใช้ก่อนทุกครั้ง

ข้อดี

– สูตรปรับปรุงใหม่ ป้องกันรังสี UVA ได้ดีขึ้น สารกันแดดเสถียรกว่าเดิม
– เนื้อสัมผัสได้รับการปรับปรุง มีความละเอียดและเกลี่ยง่ายขึ้น โดยไม่ทำให้แห้งเท่าสูตรเก่า
– ไม่เหนอะหนะ ไม่มันวาว ช่วยให้ผิวดูมันเงาช้ากว่าเดิม

ข้อเสีย

– มีส่วนผสมของน้ำหอม
– มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นลำดับต้น ๆ (แต่สามารถลดผลกระทบได้โดยการให้ความชุ่มชื้นที่ดีพอ)

***Sponsored Item***

– Bioré : UV Aqua Rich Watery Mousse SPF50+ / PA++++